ประโยชน์ของการนวด

 

 

การนวดมีผลบำบัดอาการปวดได้ดี และเป็นที่นิยมมากในยุคปัจจุบัน ว่าเป็นวิธีที่ง่าย โดยทั่วไปการนวดมีผลการบรรเทาอาการปวดตามกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อ และคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดเฉพาะที่ได้ดี  การนวดที่ถูกวิธีจะมีผลบรรเทาอาการปวดคอและศีรษะได้ และหากผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการรักษาและควบคุมอาการตามสาเหตุ อาการก็จะหายได้ในเวลาไม่นาน เช่นกรณีที่เครียดจากการนั่งทำงาน เมื่อควบคุมความเครียดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานแล้วรับการนวดเพียง 2-3 ครั้ง อาการปวดคอ และศีรษะก็จะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าตราบใดที่ต้นเหตุหรือพฤติกรรมไม่ถูกควบคุมหรือเปลี่ยนแปลง การนวดก็มีผลบรรเทาได้ชั่วคราวเท่านั้น

 

กลไกการลดอาการปวดโดยวิธีการนวดพอจะอธิบายได้ดังนี้

 

1. การนวดทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นคลายตัว ทำให้หลอดเลือดแดงมีการขยายตัว

เนื่องจากการนวดมีผลกระตุ้นต่อสารอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด นอกจากนี้ทำให้มาสต์เซลล์ (mast cell) ปล่อยสารคล้ายฮิสตามีนออกมาทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น การไหลเวียนของหลอดเลือดแดงดีขึ้น ส่งผลให้บริเวณที่ปวดหรือที่ถูกนวดได้รับสารอาหาร ออกซิเจนเพิ่มขึ้น ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและส่งเสริมการยืดตัวของกล้ามเนื้อ

รวมทั้งเพิ่มการไหลเวียนกลับของหลอดเลือดดำและน้ำเหลือง ทำให้มีการระบายหรือลดปริมาณของสารต่างๆ เช่น กรดแลกติก พรอสตาแกลนดิน ฮิสตามีน เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดตรงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บหรือปวด (มีผลกระตุ้นต่อตัวรับความเจ็บปวด) เมื่อไม่มีการกระตุ้น ตัวรับความเจ็บปวด จึงไม่เกิดสัญญาณเจ็บปวดส่งต่อไปยังสมอง ทำให้ไม่เกิดการรับรู้ว่ามีความเจ็บปวด

นอกจากนี้ขณะที่รับบริการนวด ผู้ถูกนวดจะได้รับการสัมผัสจากการดูแลเอาใจใส่ ทำให้เกิดความอบอุ่น ผ่อนคลาย ร่างกายผู้ถูกนวดมีการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ทำให้เกิดการผ่อนคลายลดอาการปวดไปได้อีกทางหนึ่ง

 

2.การนวดเป็นการกระตุ้นใยประสาทขนาดใหญ่ของเส้นทางขาลงจากสมองที่เป็นศูนย์ควบคุมความเจ็บปวด ทำให้มีการหลั่งสารที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน เช่นสารเอนดอร์ฟิน สารเอนเซฟาลีน ออกมายับยั้งควบคุมความเจ็บปวดในกลไกการเปิดปิดประตูในระดับไขสันหลัง

 

3. การนวดลดปวดได้ตามแนวดคิดของทฤษฏีเปิด ปิด ประตู

กล่าวคือการนวดเป็นการกระตุ้นใยประสาทขนาดใหญ่ที่มีเปลือกหุ้มที่นำสัญญานของการสัมผัสและการนวดเข้าสู่ไขสันหลังทางรากบนไปสื่อประสาทกับเซลล์ในชั้น เอสจี (ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการปิด และเปิดประตูในระดับไขสันหลัง) ซึ่งเซลล์เอสจี ทำหน้าที่ยับยั้งให้ประตูปิดจึงไม่มีสัญญาณประสาทไปกระตุ้นเซลล์ที ทำให้ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด เป็นการควบคุมความเจ็บปวดก่อนสื่อประสาท

Visitors: 596,735