ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตของคนทำงานออฟฟิศ

 

 

อาการปวดคอ ไหล่ หลัง อันเนื่องมาจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ และกลุ่มคนไอทีทั้งหลาย ที่ต้องทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวัน บางท่าทางจะทำให้เกิดการโค้งงอผิดรูปของกระดูกได้ และบางท่าทางทำให้เกิดอาการตึง ยึด จนเกิดอาการปวดในที่สุด แบบนี้เรียกว่า "ออฟฟิศ ซินโดรม" (Office Syndrome)

 

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตคนทำงานออฟฟิศ

 

     เนื่องจากรูปแบบการทำงานในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จำกัด การนั่งในรถ, นั่งบนโต๊ะทำงาน และ ผูกติดอยู่กับจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดกลุ่มอาการ "ออฟฟิศซินโดรม" ผู้ป่วยที่เข้าได้กับกลุ่มอาการนี้ในประเทศไทยพบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 เป็น ร้อยละ 60 แต่ในประเทศพัฒนาพบมากถึงร้อยละ80 และมักพบในช่วงอายุวัยทำงานคือ 16 - 44 ปี

 

กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ที่พบบ่อยมี  3 ระบบ ได้แก่

     1. อาการทางระบบการมองเห็น  อาการในกลุ่มนี้เกิดจากการมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ หรือนั่งทำงานอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงไม่เหมาะสม

     2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการนั่งทำงานในห้องปรับอากาศที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือห้องที่มีมลภาวะจากหมึกเครื่องพิมพ์ หมึกเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

     3. อาการทางระบบกล้ามเนื้อ  เป็นอาการที่พบได้บ่อยสุด  ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวด หรือ อาการเมื่อยล้า

 

     ในรายที่เริ่มเป็นใหม่ๆจะมีอาการเฉพาะช่วงเว้นว่าง ที่ผู้ป่วยไม่ได้จดจ่ออยู่กับการทำงานหรือ ช่วงเวลาก่อนนอน   ส่วนผู้ป่วยรายที่มีอาการหนักขึ้นอาจมีกล้ามเนื้อหดเกร็งค้าง ล๊อคข้อไว้ ทำให้เกิดอาการเจ็บแปล๊บขึ้นมาขณะเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้นๆ บางรายมีความรู้สึกคล้ายอาการชา และรู้สึกยิบๆ บริเวณผิวหนังร่วมด้วย อาการทางระบบกล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดจากการปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ 

 

บริเวณที่อาการออฟฟิศซินโดรมเกิดขึ้นบ่อย

คอ บ่า ไหล่ เป็นบริเวณที่พบมากที่สุด

รองลงมาคือ หลังส่วนล่าง

ส่วนบริเวณข้อมือและ แขน จะพบมากเป็นอันดับสาม

 

 

อันตรายของออฟฟิศซินโดรม

 

อาการของออฟฟิศซินโดรม หากปล่อยไว้โดยไม่บำบัด หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น

1. เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดเลยทีเดียว

2. เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียดสะสม ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน

3. เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย

 

สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม

 

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

1.              ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้เกิดอาการ (Predisposing Factor) อาจเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย อากาศ อาหาร ความเครียด จนเกิดโรคต่างๆ ได้แก่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ภาวะกล้ามเนื้อมีความทนทานต่ำ

 

2. ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ (Precipitating Factor) เป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุด แต่แก้ไขยากที่สุด เพราะเป็นความเคยชินในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น

เกิดจากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ และไม่มีการยืด ขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป การเพ่งใช้สายตามากๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดหัวปวดตาได้

สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ อุปกรณ์ในออฟฟิศเต็มไปด้วยฝุ่น เป็นต้น

 

3. ปัจจัยที่ทำให้อาการไม่หาย และคงอยู่ตลอดไป (Perpetuating Factor) ได้แก่

ความเครียดทางจิตใจ ทำงานหนักเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน บวกกับสังคมในที่ทำงานเป็นพิษ ก็สามารถส่งผลให้เกิดความเครียดได้

ภาวะพร่องทางโภชนาการ เช่น วิตามินบี วิตามินซี โฟลิค แคลเซียม แม็คนีเซียม เป็นต้น

 

4. อุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน กระทบกระแทก

 

 

แม้ว่าอาการออฟฟิศซินโดรมมาจากหลากหลายปัจจัยข้างต้น แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ชีวิตเมือง สังคมที่เปลี่ยนไป มีการแข่งขันกันสูงมากขึน ทำให้หลายคนรีบเร่งทำแต่งานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ กับรายจ่ายจนมองข้ามสุขภาพร่างกายของตนเอง โรคนี้จึงมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรม รีบเร่งที่ทำให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียด เกิดความอ่อนล้า เพลีย อันไม่เพียงนำพาสู่การมีอาการออฟฟิศซินโดรมเท่านนั้น หากแต่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ อาทิเช่น โรคเครียด ต้อหิน กรดไหลย้อน และโรคอ้วน เป็นต้น

 

Visitors: 612,368