ผด ผื่นคัน

วิธีดูแลและรักษาผิวเมื่อมีผื่นคัน

เมื่อมีผื่นและมีอาการคัน ควรทำอย่างไร

                  คำตอบคงไม่ใช่ว่า ( เกา ) ได้ตามอำเภอใจจนกว่าจะหายคัน เพราะการเกาทำให้สะใจในเรื่องแก้คันได้ก็จริง แต่การเกาจะทำให้มีรอยเล็บขีดข่วนลงบนผิวหนัง และอาจเป็นหนองทุกคนต้องเคยเป็นผื่นผิวหนังไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต่างกันแต่ว่าจะเป็นร้ายแรงชนิดต้องการรักษา หรือเป็นผื่น แต่ไม่เดือดร้อน คือ ไม่มีอาการหรืออยู่ในที่ลับตา จึงไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ การเป็นผื่นผิวหนัง หมายถึง การมีสีผิวหนังผิดไปจากเดิม (ผื่นขาว ผื่นเขียว ผื่นน้ำตาล ผื่นแดง หรือผื่นดำ ) หรือการมีตุ่มผื่นและก้อนนูนเหนือผิวหนัง ซึ่งอาจมีน้ำเหลืองไหลเป็นฝีหนอง หรือเลือดไหลก็ได้

                  ที่สำคัญที่สุด ท่านต้องแยกให้ออกว่า สิ่งผิดปกติบนผิวหนังของท่านจัดเป็นผื่นผิวหนังหรือเกิดจากบาดแผล มีดบาด ตะปูตำ น้ำร้อนลวก  หรือ ถูกสารเคมี สิ่งเหล่านี้การปฎิบัติตนจะแตกต่างกัน

การป้องกันและรักษา

                  ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังนั้น เกินร้อยละ 90 มักจะทดลองรักษาด้วยตนเอง มาก่อนเสมอ เมื่อไม่หายแล้วจึงมาพบแพทย์ นับได้ว่าปฎิบัติต่อโรคผิวหนังของตนเองอย่างผิดๆ โดยประมวลอาการกำเริบของโรคผิวหนังจากคนไข้ ที่มาพบหมอ คือ

*สบู่

                  หลายคนจะเข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นโรคผิวหนังจากความสกปรก จึงฟอกสบู่บริเวณนั้นให้มากกว่าเดิม หรือมิฉะนั้นก็ใช้สบู่ที่ผสมยาฆ่าเชื้อ หรือไม่ก็แช่ผิวหนังส่วนนั้นลงบนน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดแรงมากๆ และถ้าแช่น้ำยาแล้วเกิดอาการแสบๆ จะยิ่งเชื่อว่าทำให้หายคัน

                  แท้จริงแล้วสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นข้อห้ามใช้ในโรคผิวหนัง เพราะสบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ จะมีผลให้ความเป็นกรดด่างของผิวหนังบริเวณที่ถูทาเปลี่ยนแปลงไป มีผลให้อาการของโรคผิวหนังกำเริบมากขึ้น โดยลามกว้างออกไป น้ำเหลืองไหลมากขึ้น เพราะเกิดอาการระคายเคืองจากสบู่ อาการคันจะเป็นมากขึ้นเมื่อเช็ดผิวหนังให้แห้งแล้ว

            จึงสรุปว่าไม่ควรใช้สบู่ หรือสบู่ยาฆ่าเชื้อโรค ปัญหาที่ว่ามีสิ่งสกปรก และเป็นโรคผิวหนังเพิ่มอีก หรือ เพราะอาบน้ำไม่ฟอกสบู่

            คำตอบ ก็คือ ให้ฟอกสบู่เฉพาะตรงที่เป็นผิวหนังปกติ

                  ส่วนบริเวณโรคผิวหนังนั้น ให้เพียงแต่ราดน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อล้างฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรก และสิ่งแปลกปลอมออกให้มาที่สุด แล้วซับผิวหน้าด้วยผ้านุ่มๆ จนแห้งสนิท สำหรับการทำความสะอาด บริเวณโรคผิวหนังก็เพียงพอแล้ว

*แอลกอฮอล์

                  การทำความสะอาดโรคผิวหนังด้วยตนเองโดยใช้แอลกอฮอล์ เพราะเข้าใจว่าฆ่าเชื้อโรคได้ และเนื่องจากแสบๆเย็นๆ เวลาทาแอลกอฮอล์จึง ทำให้อาการคันลดลงได้ จึงนิยมใช้กันมาก แท้ที่จริงแล้ว แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายเฉพาะแบคทีเรียเท่านั้น และโรคผิวหนังที่เกิดจากแบคทีเรีย มีน้อยมากเพียงร้อยละ 2 ถึง 3 ของโรคผิวหนังเท่านั้น ส่วนมากจะเป็นโรคผิวหนังจากการแพ้เชื้อราและโรคผิวหนังจากการไม่ติดเชื้อ

                  ดังนั้น แอลกอฮอล์จึงเกือบไม่มีประโยชน์ในการทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง

                  นอกจากนี้ อาการรู้สึกเย็นสบาย ภายหลังจากการทาแอลกอฮอล์จะเกิดอาการคันอย่างมาก ทั้งนี้เกิดจากการระเหยของแอลกอฮอล์นั้นได้พาน้ำจากผิวหนังลอกตามออกไปด้วย ผิวหนังจะเกิดอาการแห้งอย่างรุนแรงและคันมาก

                  จึงสรุปว่าไม่ควรทาแอลกอฮอล์ตรงที่เป็นโรคผิวหนัง

*การขูดผิวหนังด้วยไม้

                  มักจะเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังและมีอาการผิวหนังนูนหนาและคันโดยเชื่อว่าขูดด้วยไม้แล้วอาการคันจะทุเลาลงมาก

                  แต่จริงๆแล้วเมื่อขูดด้วยไม้แข็งๆ ผิวหนังส่วนบนจะลอกหลุดออกร่างกายจะสร้างผิวหนังขึ้นมาทดแทน และหนากว่าผิวหนังเดิม จึงทำให้ดูแล้วมีอาการมากขึ้นกว่าเดิม  จึงไม่ควรเอาไม้ขูดผิวหนัง ควรใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ชุบน้ำสะอาดซึ่งไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป โปะไว้บนผิวหนังนั้นสัก 15 นาที อาการคันจะทุเลาลง

 

*วิธีลดอาการคันด้วยตัวเอง

                  มาถึงปัญหาว่า ไม่ควรใช้สบู่ แอลกอฮอล์ และไม้ขูด แล้วจะทำอย่างไร ก็ถ้ามีอาการเจ็บตึงและคันมาก จึงขอแนะนำให้ช่วยเหลือตนเองด้วยวิธีง่ายๆ ที่ถูกต้อง คือ

*การอาบน้ำ

                  ถ้าเป็นที่ศีรษะให้ใช้น้ำสะอาดล้างผมทุกวันโดยไม่ต้องใส่แชมพู เพื่อล้างสะเก็ดน้ำเหลือง หรือสิ่งสกปรกออก ตัดหรือซอยผมให้สั้น เพื่อสะดวกในการถ่ายเทอากาศ และทายาได้ง่ายขึ้น

                  ถ้าเป็นตามลำตัว ควรอาบน้ำวันละ 1 ถึง 2 ครั้ง โดยใช้น้ำสะอาด ปริมาณมาก ชำระตรงบริเวณโรคผิวหนัง และห้ามถูสบู่บริเวณนั้น การราดน้ำมากๆ จะทำให้สิ่งสกปรกที่ติดรวมถึงเชื้อโรค สะเก็ดแห้งกรังหลุดออกได้เอง โดยไม่ต้องแงะให้เลือดออก การที่สะเก็ดหลุดออกจะพาเอาเชื้อโรคจำนวนมหาศาลหลุดติดออกไปด้วย หลังจากนั้นจึงใช้ผ้าสะอาดซับผิวหนังให้แห้ง

*การประคบยา

                  การประคบยาจะช่วยลดอาการคันปวดแสบปวดร้อน อาการบวมแดง และน้ำเหลืองได้

เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ถ้าเป็นโรคผิวหนังที่มีอาการคันมากสังเกตจากการที่เด็กเกามากตอนกลางคืน ให้ใช้ผ้านุ่มๆ สะอาดชุบน้ำสะอาด หรือ น้ำผสมด่างทับทิมสีชมพูอ่อนๆ ประคบตรงผื่นครั้งละ 15 นาที ควรทำช่วงที่เด็กหลับ เพราะจะได้ไม่ดิ้นจนผ้าประคบหลุดออก ควรทำทุก 2 ชั่วโมง หรือ ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง สักประมาณ 2 วัน อาการคันและบวมแดงจะยุบลง

                  เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปถึงวัยชรา ให้ใช้น้ำยาล้างตา ประคบตรงบริเวณโรคผิวหนัง ครั้งละ 15 นาที วันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

                  การประคบน้ำยาไว้ 15 นาทีนั้น จะได้ผลดีในกรณีที่มีน้ำเหลืองตรงบริเวณแผลภายใน 1 ถึง 2 วัน น้ำเหลืองจะแห้งสนิท แต่มีข้อควรระวัง คือ เมื่อครบ 15 นาทีแล้วควรเอาผ้าออก ถ้าทิ้งไว้ที่ผิวหนังจะเกิดอาการแห้งกรัง เพราะเลือดจะไหลและเจ็บปวดเวลาดึงผ้าออก

*การเจาะเม็ดพองใส

                  โรคผิวหนังบางรายจะมีตุ่มน้ำใสๆ ขนาดต่างๆกัน เหนือหรือใต้ผิวหนัง เช่น ผื่น แพ้ยาซัลฟา โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด โรคเริม ควรเจาะให้น้ำเหลืองไหลออ แต่ห้ามเลาะผิวหนังด้านบนออกตาม เพราะจะทำให้เป็นแผลเป็น

                  วิธีทำคือ ให้ใช้เข็ม เจาะตรงฐานของเม็ดใสด้านใดด้านหนึ่ง ใช้นิ้วรีดน้ำเหลืองออกให้หมด แล้วปิดด้วยผิวหนังเดิมซึ่งเป็นหลังคาของเม็ดใสๆนั้น การทำเช่นนี้จะเป็นการลดอาการเจ็บตึงของผิวหนัง และทำให้ผื่นสะอาดเพราะไม่ต้องใช้ผ้ากอซหรือสำลีปิดทับอีกครั้ง

*การดูแลผื่นผิวหนัง

                  หลายคนมักจะใช้ผ้าทำแผลปิดบริเวณผื่น โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันเชื้อโรค ป้องกันฝุ่นละออง หรือเพราะอาย โดยแท้จริงแล้วเมื่อมีผื่นผิวหนังควรเปิดไว้มิให้เกิดความร้อนขึ้น เพราะอาการคันจะมีมากถ้ามีอากาศร้อน และความชื้นเกิดขึ้น จึงควรเปิดผื่นผิวหนังไว้โล่งๆ จะดีกว่า

                  ถ้าปฎิบัติตามข้อ 1 ถึง 4 แล้ว อาการผื่นผิวหนังยังไม่ดีขึ้นภายใน 5 ถึง 7 วัน แสดงว่าเกินความสามารถในการดูแลรักษาโรคผิวหนังด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์ผิวหนังในทันที

 

Cr :  พญ.เยาวเรศ  นาคแจ้ง

 

Visitors: 612,371